เมื่อผ่านกระบวนการในการเฟ้นหาบ้านที่ถูกใจ จนทำเรื่องกู้กับธนาคารเพื่อซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้รับการอนุมัติผ่าน เชื่อว่าทุกคนคงรู้สึกโล่งใจเหลือเพียงผ่อนชำระบ้านตามจำนวนเงินและจำนวนปีที่ธนาคารกำหนดเท่านั้น บ้านหลังนี้ก็จะเป็นของคุณในที่สุด แต่เมื่อผ่านช่วง 2-3 ปีแรกของการผ่อนบ้านไปดอกเบี้ยก็จะปรับตัวสูงขึ้นแล้วแต่นโยบายของแต่ละธนาคาร หลายคนจึงเลือกที่จะทำการรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องเสียให้น้อยลงและลดภาระยอดผ่อนชำระในแต่ละเดือนให้น้อยลง จะได้หายใจหายคอได้คล่องขึ้นในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ ส่วนเอกสารที่จะต้องใช้ในการรีไฟแนนซ์ก็คล้ายกับเอกสารที่ใช้ในการขอสินเชื่อบ้านดังนี้
ภาพจาก Freepik.com
1. เอกสารยืนยันตัวตน เอกสารยืนยันตัวตนของผู้กู้และผู้กู้ร่วม
- บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวข้าราชการ
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- สำเนาใบทะเบียนสมรส/ใบหย่า/ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล (ถ้ามี)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของคู่สมรส (ถ้ามี)
- ใบมรณบัตรและทะเบียนสมรส (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
ภาพจาก Freepik.com
2. เอกสารแสดงรายได้ เอกสารยืนยันว่าผู้กู้มีความสามารถที่จะชำระเงินที่กู้ได้สำหรับบุคคลที่ทำงานประจำและเป็นเจ้าของกิจการ
- สำหรับบุคคลธรรมดาให้เตรียมสลิปเงินเดือนย้อนหลัง 6 เดือนหรือหนังสือรับรองเงินเดือนหัวจดหมายบริษัทที่ออกโดยฝ่ายบุคคลและมีลายเซ็นต์ผู้มีอำนาจลงนามพร้อมตราประทับ
- สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน
- หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่ายประจำเดือน/ปี (50 ทวิ)
- หากเป็นบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวให้เตรียมหนังสือรับรองการจดทะเบียน/ใบทะเบียนการค้า
- สำเนาบัญขีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีชื่ผู้กู้และผู้กู้ร่วม
- สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง 6 เดือนทั้งของผู้กู้และของกิจการ สำเนาภ.พ. 30 (ถ้ามี)
3.เอกสารหลักประกัน เอกสารเกี่ยวกับบ้านที่ต้องการจะทำการขอรีไฟแนนซ์
- สำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์หลักประกัน เช่น โฉนดที่ดินหรือหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด (ขนาดเท่าตัวจริงทุกหน้า)
- ใบอนุญาตปลูกสร้าง/ หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง เช่น สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน (ทด.13) หรือหสังสือสัญญาให้ที่ดิน (ทด.14)
- แผนที่ตั้งหลักประกันโดยสังเขป
- สำเนาสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงินเดิม
- สำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดิน
- สำเนาใบเสร็จเงินกู้เดือนล่าสุด
ภาพจาก Freepik.com
4. ค่าธรรมเนียม ในการรีไฟแนนซ์จะมีค่าธรรมเนียมดังนี้
- ค่าธรรมเนียมในการสำรวจและประเมินหลักทรัพย์
- ค่าอากรแสตมป์
- เบี้ยประกันอัคคีภัย (แล้วแต่นโยบายของแต่ละธนาคาร)
- ค่าเบี้ยปรับกรณีปิดภาระหนี้ก่อนกำหนด (ภายใน 3 ปีแรกนับจากวันทำสัญญาเนื่องจากการรีไฟแนนซ์)
- ในกรณีที่ธนาคารอนุมัติต้องมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการและการจดจำนองที่กรมที่ดินซึ่งขึ้นอยู่กับวงเงินที่ทางธนาคารอนุมัติให้ด้วย
เอกสารที่ต้องเตรียมคล้ายกับเอกสารที่ใช้ยื่นในการกู้บ้านซึ่งหากคุณเคยกู้บ้านผ่านและยังคงมีรายได้ประจำอยู่การขอรีไฟแนนซ์นั้นก็น่าจะผ่านการอนุมัติได้อย่างง่ายดาย
เนื้อหา © Yimsu Idea