การซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ

28 ก.พ. 2560 13.22 น. | 7,450

การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นธุรกิจที่ต้องมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เนื่องจากต้องมีการทำนิติกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งหลายคนรวมทั้งนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจเข้าใจว่าไม่สามารถทำการซื้อขายได้ วันนี้เราจะมีข้อกฎหมายมาแนะนำให้เป็นความรู้ เพื่อให้นักลงทุนอย่างคุณไม่เสียโอกาสในการซื้อขาย หรือปล่อยเช่าอสังหาฯให้กับชาวต่างชาติ

 

 

ภาพจาก www.laughtonteam.com



ชาวต่างชาติสามารถซื้อหรือเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมได้หรือไม่

การซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆแต่อาจมีข้อจำกัด เช่น ในกรณีการซื้อคอนโดมิเนียมในทางปฏิบัติชาวต่างชาติสามารถซื้อได้เท่าที่ต้องการ แต่มีกฎอยู่ว่าภายในโครงการนั้นจะต้องมีคนไทยเป็นเจ้าของอยู่ 51 % ส่วนที่เหลืออยู่ 49 % ชาวต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของได้ การขายต่อหรือโอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่มีปัญหาใดๆอยู่ภายใต้พื้นฐานการถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยอิสระ

สิ่งสำคัญที่นักลงทุนจะต้องรู้ก็คือ เงินของชาวต่างชาติที่จะนำมาซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น จะต้องเป็นเงินที่โอนมาจากธนาคารต่างประเทศ มายังธนาคารในเมืองไทยซึ่งจะต้องมีใบเสร็จรับเงินและหรือใบรับรองจากธนาคาร (สิ่งนี้เป็นการควบคุมใหม่สำหรับการป้องกันการฟอกเงิน)

 

ภาพจาก pointre.com

 

ชาวต่างชาติสามารถซื้อบ้านและที่ดินได้หรือไม่

กรณีชาวต่างชาติที่ต้องการซื้อบ้านและที่ดินนั้น ไม่สามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้ ยกเว้นเลือกทำวิธีใดวิธีหนึ่งใน 3 วิธีนี้

1. ชาวต่างชาติสามารถใช้ชื่อคนไทยซื้อบ้านและที่ดินแทนได้ เช่น การแต่งงานกับคนไทยแล้วใช้ชื่อ ภรรยาหรือสามีคนไทยเป็นผู้ซื้อ

2. ทำสัญญาเช่าบ้านและที่ดิน สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์แต่ละครั้งได้ไม่เกิน 30 ปี

3. จัดตั้งบริษัทซึ่งหมายถึงการใช้หุ้นส่วนเป็นคนไทย แล้วโอนกรรมสิทธิ์เป็นชื่อของบริษัท ซึ่งบริษัทสามารถมอบอำนาจให้สิทธิอยู่อาศัย

 


แม้ว่ากฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติซื้อที่ดินในประเทศไทย แต่ชาวต่างชาติมีสิทธิในการเป็นเจ้าของอาคารหรือห้องชุดในคอนโดมิเนียมเท่าที่ต้องการได้ โดยปฏิบัติตามกฎในการซื้อคอนโดมิเนียมที่โครงการนั้นจะต้องมีคนไทยถือกรรมสิทธิ์อยู่ 51 % และในกรณีที่ต้องการเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินก็สามารถทำได้ 3 วิธี ได้แก่ แต่งงานกับคนไทยแล้วใช้ชื่อสามีหรือภรรยาที่เป็นคนไทยเป็นผู้ซื้อหรือใช้ชื่อคนอื่นซื้อให้ การเป็นเจ้าของบ้านและที่ดินโดยการทำสัญญาเช่า และวิธีสุดท้ายการเป็นเจ้าของอาคารและที่ดินในรูปแบบของบริษัทร่วมทุนจำกัดที่มีเจ้าของคนไทยเป็นหุ้นส่วน