พอบอกว่าต้องเสียภาษีเงินได้ หลายๆ คนก็คงต้องกุมขมับนั่งปวดหัว เพราะบางทีรายจ่ายในชีวิตก็เยอะแยะเต็มไปหมด ไม่รู้ว่าจะมีเงินพอให้เสียภาษีหรือไม่ ผมขอบอกก่อนเลยว่า อย่าพึ่งปวดไปครับ เพราะที่จริงแล้ว เราสามารถที่จะหักลดหย่อนภาษีได้ค่อนข้างเยอะ หักไปหักมาบางทีเราอาจจะไม่ต้องเสียภาษีเลยก็ได้ แถมอาจจะได้ภาษีคืนซะด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น เราควรที่จะรู้ถึงสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีของเรา ว่าสามารถที่จะหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะได้ไม่เสียสิทธิ์นั้นครับ
15 รายการที่สามารถหักลดหย่อนภาษีได้
- หักค่าจ่ายที่จำเป็นหรือค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตประจำวัน 50% ของรายได้ต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (หลักเกณฑ์ใหม่)
- หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท (หลักเกณฑ์ใหม่)
- หากคู่สมรสไม่มีรายได้ เช่น มีภรรยาเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก เราสามารถที่จะหักลดหย่อนภาษีได้อีก 60,000 บาท (หลักเกณฑ์ใหม่)
- หากมีบุตร เราสามารถที่หักลดหย่อนภาษีได้อีก 30,000 บาทต่อคน (หลักเกณฑ์ใหม่) และสามารถหักหย่อนเพื่อการศึกษาได้อีกคนละ 2,000 บาท แต่สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 คน และสามารถหักลดหย่อนได้จนบุตรอายุครบ 20 ปี แต่ถ้าบุตรศึกษาในระดับ ปวส. และปริญญาตรีต่อ ก็ยังสามารถหักลดหย่อนได้จนบุตรเรียนจบหรืออายุครบ 25 ปี
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูพ่อแม่ หากพ่อแม่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เราสามารถที่หักลดหย่อนให้พ่อและแม่ได้คนละ 30,000 บาท
- ค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หากเราอุปการะคนพิการที่ขึ้นทะเบียนคนพิการ เราสามารถที่จะนำมาใช้เพื่อหักลดหย่อนภาษีได้อีกคนละ 60,000 บาท
- ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา สามารถลดหย่อนได้ตามจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อคน
- ค่าเบี้ยประกัน โดยถ้าเป็นประกันชีวิต สามารถหักลดหย่อนได้สูงสุด 10,000 บาท และถ้ามีคู่สมรสที่ไม่มีรายได้จะสามารถหักลดหย่อนได้สูงสุดถึง 100,000 บาท ส่วนถ้าเป็นประกันชีวิตแบบบำนาญจะสามารถหักลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ในแต่ละปีแต่ไม่เกิน 200,000 บาท
- เงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้พึ่งประเมินต่อปี และจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ RMF
- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของรายได้พึ่งประเมินต่อปีและสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท และจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของ LTF
- ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริงแต่รวมกันแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
- เงินสมทบกองทุนประกันสังคม สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง
- เงินสะสมที่สมาชิกจ่ายเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท
- เงินบริจาค หากมีการบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการศึกษาหรือบริจาคให้กับมูลนิธิต่างๆ สามารถหักลดหย่อนได้ตามจริงหรือสูงสุดร้อยละ 10 ของรายได้พึ่งประเมินต่อปี
เป็นไงบ้างครับ เราสามารถหักลดหย่อนได้เยอะอยู่นะครับ อย่างที่ได้บอกเอาไว้ในข้างต้น หักไปหักมาแล้วอาจไม่ต้องจ่ายเลยเสียด้วยซ้ำไป ยิ่งถ้าเป็นคนที่มีรายได้พึ่งประเมินต่อปีไม่มากด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องกังวลเลยครับ เพราะคุณคงไม่ต้องจ่ายชัวร์ๆ อยู่แล้ว