จ่ายหนี้ไม่ไหว...ปรับโครงสร้างหนี้ดีไหม

7 ก.พ. 2560 00.31 น. | 21,246

การเป็นหนี้ว่าปวดใจแล้ว แต่การไม่มีเงินชำระหนี้คงปวดใจยิ่งกว่า และหลายท่านก็คงไม่อยากเกิดปัญหาที่ว่าพอไม่มีเงินชำระแล้วต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเสียเวลา และเสียประวัติ การปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หลายคนตัดสินใจทำกัน แต่ว่าการปรับโครงสร้างหนี้จริงๆแล้วนั้นมันดีจริงหรือไม่วันนี้เรามีคำตอบมาให้คุณ

 

การปรับโครงสร้างหนี้คืออะไร

การปรับโครงสร้างหนี้ คือ หนทางที่จะช่วยลดผลกระทบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ จะเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ไม่สามารถรักษาสถานะภาพการชำระหนี้ได้ จึงเกิดการปรับโครงสร้างหนี้ขึ้น

 

ปรับโครงสร้างหนี้กับใครได้บ้าง

  1. สถาบันการเงินเดิมที่เราเป็นหนี้อยู่ โดยขอเจรจาประนีประนอมหนี้ก้อนที่มี อาจจะช่วยให้คุณได้ลดดอกเบี้ยลง
  2. สถาบันการเงินที่รับปรับโครงสร้างหนี้ คุณสามารถเข้าไปขอข้อมูลและสอบถามเพิ่มเติม เพื่อทราบเงื่อนไขของแต่ละแห่ง

 

เตรียมตัวอย่างไรก่อนปรับโครงสร้างหนี้

ก่อนที่จะทำเรื่องปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือขอประนอมหนี้นั้น ในฐานะลูกหนี้ก็ควรที่จะศึกษาข้อมูลและอ่านสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เข้าใจเสียก่อน เพราะการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อาจทำให้คนที่อยู่ในฐานะที่เป็นลูกหนี้เสียเปรียบได้ เพราะถ้าหากไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาใหม่จนนำไปสู่กระบวนการฟ้องร้องได้ เนื่องจากสัญญาฉบับใหม่ที่ทำขึ้นเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้นั้นได้มีปรับดอกเบี้ยลดลงแล้ว จึงทำให้ธนาคารมองว่าสัญญานี้มีความเป็นธรรมและปรับลดการผ่อนชำระให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ โดยที่ไม่เป็นหนี้เสีย

 

ข้อดี-ข้อเสียของการปรับโครงสร้างหนี้

ข้อดี

  1. ช่วยลดแรงกดดันในการชำระหนี้และการถูกทวงหนี้
  2. บางสถาบันการเงินอาจจะลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้

ข้อเสีย

  1. มูลค่าหนี้หลังจากการปรับโครงสร้างหนี้อาจจะเพิ่มขึ้น เพราะเจ้าหนี้บางรายอาจจะนำดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าทวงถาม ไปต่อยอดหนี้เดิมมารวมเป็นยอดหนี้ใหม่ที่สูงขึ้นก็เป็นได้
  2. อีกทั้งประวัติทางการเงินที่แสดงอยู่ที่เครดิตบูโรก็อาจจะไม่ใช่บัญชีปกติ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการขออนุมัติสินเชื่อในครั้งต่อๆ ไปได้

จากข้อมูลด้านบนที่เรานำเสนอให้คุณไปเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้ เราก็หวังว่าคุณจะได้ทางออกอีกทางหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าเมื่อปลดหนี้ได้หมดแล้วก็ต้องไม่สร้างหนี้เพิ่มขึ้นมาอีก น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุด