เตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2559 ง่ายนิดเดียว

23 มิ.ย. 2560 15.39 น. | 1,709

          ช่วงต้นปีแบบนี้มนุษย์เงินเดือนผู้มีรายได้ทั้งหลายต้องเตรียมตัวยื่นแบบแสดงรายได้แก่กรมสรรพากร ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์หลังหักลดหย่อนแล้วต้องเสียภาษีเงินได้ให้กับสรรพากรและขอรับคืนสำหรับผู้ที่ถูกหัก ณ. ที่จ่ายไว้มากกว่ายอดที่ต้องเสีย หลายคนคิดว่ารายได้ไม่ถึง 150,000 บาทต่อปีไม่ต้องยื่นก็ได้แต่กรมสรรพพากรระบุให้ผู้ที่มีเงินได้แม้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีในกรณีต่อไปนี้ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายได้

  • คนโสด ถึงแม้ไม่มีงานประจำแต่หากมีรายรับตั้งแต่ 4,167 บาทขึ้นไปหรือตั้งแต่ 50,000 บาทต่อปีในปีภาษีนั้นต้องยื่นแบบแสดงรายได้บุคคลธรรมดาแก่สรรพากร
  • คู่สมรส หากคุณมีคู่จดทะเบียนสมรสแล้วและอีกฝ่ายหรือทั้งสองฝ่ายมีรายได้ประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือนรวมกันแล้วเกิน 60,000 บาทหรือมีเฉพาะเงินเดือนเกิน 100,000 บาทคุณเองก็ต้องยื่นแบบแสดงรายได้ในปีนั้นด้วย

โดยแบบยื่นแสดงรายการเงินได้เพื่อเสียบุคคลมี 2 แบบ แบบที่เราคุ้นเคยกันดีคือ ภ.ง.ด. 91 สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนและไม่มีรายได้ทางอื่น และสำหรับผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน เช่น ค้าขาย เงินปันผล ต้องยื่น ภ.ง.ด. 90

ภาพจาก Freepik.com

 

ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง? และสามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนใดมาลดหย่อนได้บ้าง?

  1. หัก ณ.ที่จ่าย หรือ 50 ทวิ ซึ่งเป็นเอกสารรับรองรายได้และรายการหัก ณ. ที่จ่ายที่ได้หักไว้ในปีภาษีนั้นที่ออกโดยนายจ้าง สามารถใช้เป็นหลักฐานแสดงรายได้และนำตัวเลขมาเป็นฐานรายได้ในการคำนวณเงินได้รวมถึงเงินที่จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนอื่น ๆ ที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ (เอกสาร:หนังสือรับรองหัก ณ.ที่จ่าย)
  2. เบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท (เอกสาร: หนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต)
  3. คู่สมรส หากคู่สมรสไม่มีเงินได้หรือมีเงินได้แต่นำมาคำนวณภาษีพร้อมกันจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรสได้ (เอกสาร: ทะเบียนสมรส)

ภาพจาก Freepik.com

 

  1. บุตร หากมีบุตรที่อายุต่ำกว่า 20 ปีหรือมีบุตรบุญธรรมก็สามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท แต่ไม่เกิน 3 คนสูงสุด 45,000 บาท หากบุตรอายุเกิน 20 ปี (21-25ปี) จะต้องศึกษาอยู่ในระดับ ปวส.เท่านั้น นอกจากนี้ยังได้รับลดหย่อนอีกคนละ 2,000 บาทหากบุตรศึกษาต่อในประเทศ (เอกสาร: เอกสารรับรองบุตรหรือสูติบัตร)
  2. ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา สำหรับผู้ที่มีบิดามารดาอายุ 60 ปีขึ้นไป สามามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท รวมทั้งบิดามารดาของคู่สมรสอีกคนละ 30,000 บาท โดยบิดามาดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท (เอกสาร:หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบิดามารดา)
  3. ค่าเบี้ยประกันบิดามารดา สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยบิดามารดาต้องมีเงินได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท (เอกสาร: หลักฐานการชำระค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา)
  4. ค่าเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ หากคุณมีคนพิการหรือคนทุพพลภาพอยู่ในความดูแลสามารถนำมาลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยคนพิการต้องมีบัตรประจำตัวคนพิการซึ่งระบุชื่อคุณเป็นผู้ดูแลในบัตรและต้องมีเงินได้ในปีภาษีนั้นไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับคนทุพพลภาพต้องเป็นผู้ทุพพลาภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน มีใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีที่ภาษีที่ขอใช้สิทธิลดหย่อน (เอกสาร: หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพและหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ)
  5. ผู้สูงอายุ ผู้มีเงินได้ที่เป็นสูงอายุที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีนั้นได้รับยกเว้นเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 190,000 บาท
  6. ผู้พิการ ผู้มีเงินได้ที่เป็นผู้พิการที่มีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีนั้นได้รับยกเว้นเงินได้ จำนวน 190,000 (เอกสาร: บัตรประจำตัวคนพิการ)
  7. เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยมาลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท (เอกสาร: เอกสารรับรองดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคาร)

ภาพจาก freepik.com

 

  1. การบริจาค สามารถลดหย่อนได้ตามจริงสูงสุดไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิและหากเป็นเงินสนับสนุนการศึกษาสามารถลดหย่อนได้เป็น 2 เท่าของเงินบริจาค (เอกสาร: ใบเสร็จรับเงินบริจาค)
  2. การซื้อหน่วยลงทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาทเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (เอกสาร: เอกสารรับรองการซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) )
  3. การลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถใช้สิทธิได้ไม่เกินไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้และไม่เกิน 500,000 บาท (เอกสาร:รับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวามหุ้นระยะยาว (LTF) )
  4. ใบกำกับภาษีซื้อสินค้าและบริการที่รัฐบาลประกาศให้สามารถนำมาลดหย่อนภาษีบุคคลได้ดังนี้
  • การท่องเที่ยวภายในประเทศตลอดปี 2559 (เอกสาร:ใบกำกับภาษีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม 2559)
  • การท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (เอกสาร: ใบกำกับภาษีซื้อสินค้าและบริการระกว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 โดยเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเที่ยว กิน นอน สูงสุดไม่เกิน 15,000)
  • ซื้อสินค้าโอทอป (เอกสาร: ใบกำกับภาษีซื้อสินค้าโอทอประหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2559 สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)
  • ซื้อสินค้าและบริการช่วงปีใหม่ (เอกสาร: ใบกำกับภาษีซื้อสินค้าและบริการช่วงวันที่ 14-31 ธันวาคม 2559)
  • ซื้อบ้านหลังแรกและโอนกรรมสิทธิ์ในช่วง 13 ตุลาคม 2558 – 31 ธันวาคม 2559 สามารถนำ 20% ของราคาบ้านมาเฉลี่ยลดหย่อนภาษีได้เป็น 5 ปีหรือเท่ากับลดหย่อนภาษีได้ปีละ 4% ของบ้านเป็นเวลา 5 ปี (เอกสาร: หนังสือรับรองจำนวนเงินที่ชำระค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์, หนังสือรับรองการซื้ออสังหาริมทรัพย์ว่าเป็นที่อยู่อาศัยหลังแรก, สำเนาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และสำเนาสัญญากู้ยืมเงิน )
  1. เป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (เอกสาร: หลักฐานการเป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ)
  2. ผู้ที่ลงทุนในหุ้นและกองทุนรวมต่าง ๆ สามารถนำภาษีที่ถูกหักจากเงินปันผลมาลดหย่อนได้ (เอกสาร: เอกสารเครดิตภาษีเงินปันผล)

                และหลังจากนำผลรวมของรายได้ของปีภาษีนั้นหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ออกแล้วจะได้เป็นผลลัพธ์เป็นรายได้สุทธิจากนั้นนำมาคูณอัตราซึ่งแตกต่างกันไปตามขั้นบันไดของเงินได้สุทธิดังนี้

ภาพจาก Dlo.co.th

 

                สำหรับช่องทางการยื่นภาษี ปัจจุบันสามารถใช้บัตรประชาชนสมัครและยื่นแบบผ่านอินเตอร์เน็ตได้แล้วซึ่งสะดวกสบายกว่าการนำแบบไปยื่นที่สรรพากรพื้นที่มาก ๆ และสามารถชำระผ่าน Payment Gateway ของสถาบันการเงินต่าง ๆ รวมถึงที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-11สำหรับผู้ที่ได้รับภาษีคืนสามารถติดตามเงินภาษีที่ขอคืนผ่านช่องทางออนไลน์และรับเงินภาษีคืนเป็นเช็คธนาคารหรือผ่านบัญชีธนาคารที่แจ้งไว้ได้ อาจจะดูเหมือนยุ่งยากแต่ว่าการยื่นจริง ๆ นั้นง่ายกว่าที่คิดอย่าลืมไปดำเนินการยื่นกันให้เรียบร้อยนะทุกคน