เรื่องน่ารู้กับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคมมีอะไรบ้าง?

3 ก.ค. 2560 15.18 น. | 1,609

          หลังจากทำงานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งเดือนก็ทุกคนคงชื่นใจที่ได้รับเงินเดือนสักทีในวันเงินเดือนออก แต่ว่าเป็นยอดที่ถูกหักประกันสังคมไปถึง 5% (ขั้นต่ำ 68 บาทสูงสุด 750 บาท) ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากพอดูเมื่อนำมาคิดคำนวณกับระยะเวลา และทำให้เกิดคำถามว่าเราจะได้อะไรจากการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมนี้บ้าง?

 

1. กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย สามารถเข้ารับการรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลที่เลือกไว้กับประกันสังคม ซึ่งครอบคลุมความช่วยเหลือ (ช่วยค่าใช้จ่ายแต่อาจไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด) ในกรณีเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก, มะเร็ง 10 ชนิด, โรคสมองและโรคหัวใจ, กรณีการบำบัดทนแทนไต,กรณีทำหมัน, กรณีทันตกรรมรวมไปถึงช่วยจ่ายค่าห้องและค่าอาหารกรณีต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ยกเว้นกลุ่ม 13 โรคยกเว้นที่จะไม่สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ และได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ระหว่างเจ็บป่วยครึ่งหนึ่งของค่าจ้างตามวันที่หยุดจริงไม่เกินครั้งละ 90 วันและไม่เกิน 180 วันใน 1 ปี

ภาพจาก Freepik.com

 

2. กรณีคลอดบุตร ผู้ประกันตนที่เป็นสตรีสามารถเบิกเงินช่วยเหลือค่าทำคลอดบุตรและได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ระหว่างลาคลอด 90 วัน

 

3. ค่าเลี้ยงดูบุตร สำหรับผู้ประกันตนที่มีบุตรอายุ 0-6 ปีสามารถขอเบิกค่าเลี้ยงดูบุตรจากประกันสังคมได้เดือนละ 400 บาทต่อคน

 

4. กรณีทุพพลภาพ ทุพพลภาพ หมายความว่าการสูญเสียอวัยวะหรือสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะของร่างกายหรือสูญเสียภาวะปกติของจิตใจจนไม่สามารถทำงานได้ปกติ ผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นเงินช่วยเหลือในค่ารักษาพยาบาลและเงินทดแทนการขาดรายได้

ภาพจาก Freepik.com

 

5. กรณีเสียชีวิต หากผู้ประกันตนเสียชีวิตจะได้รับค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ซึ่งมีอัตราที่ต่างกันตามระยะเวลาที่ส่งเงินสมทบ โดยหากส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป ได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือนและหากส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน

 

6. กรณีชราภาพ เมื่อผู้ประกันตนมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์และจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือนไม่ว่าจะติดต่อกันหรือไม่จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ สำหรับผู้ประกันตนที่อายุ 55 ปีบริบูรณ์แต่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ

 

6. กรณีว่างงาน สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เมื่อผู้ประกันตนลาออกหรือถูกเลิกจ้างรวมไปถึงกรณีที่สถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว สามารถไปขึ้นทะเบียนว่างงานที่สำนักจัดหางานของรัฐเพื่อขอรับเงินทดแทนกรณีว่างงานได้

ภาพจาก Freepik.com

 

ผู้ประกันตนมาตรา 39 สำหรับผู้ประกันตนที่เคยเป็นพนักงานประจำ หากเคยนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานมาแล้วไม่เกิน 6 เดือนสามารถยื่นขอส่งเงินสมทบเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ด้วยตนเอง โดยได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่เลือกโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ใกล้เคียงกับผู้ประกันตนมาตรา 33 เลยทีเดียว

สำหรับรายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ประกันสังคม (http://www.sso.go.th/wpr/category.jsp?cat=645 ) และสายด่วนประกันสังคม 1506 จะเห็นได้ว่าการมีประกันสังคมมาช่วยดูแลเราในเรื่องสุขภาพก็ช่วยให้หมดห่วงยามที่เจ็บไข้ได้ป่วยและกรณีที่คลอดบุตร รวมไปถึงมีเงินบำเหน็จ บำนาญไว้ใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณเพิ่มขึ้น และหากเกิดเหตุไม่คาดฝันทุพพลภาพหรือถึงแก่กรรมก็ยังมีเงินส่วนนี้ที่จะเข้ามาช่วยค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นสวัสดิการที่ดีมากเลยจริงมั้ย