Benchmark คืออะไร?

25 มิ.ย. 2560 15.40 น. | 1,752

                หลายคนอาจจะได้ยินผ่านหูกันมาบ้างว่ากองทุนส่วนใหญ่ตัดสินใจลงทุนโดยอ้างอิงจาก Benchmark เพื่อประกอบการตัดสินใจในการลงทุน แต่ Benchmark ที่ว่านี่คืออะไรล่ะ? คำอธิบายสั้น ๆ ของ Benchmark ก็คือ เกณฑ์ชี้วัดความสามารถของหุ้นหรือกิจการที่เราสนใจจะลงทุนโดยเปรียบเทียบกับหุ้นหรือกิจการที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน  Benchmark นั้นที่จริงแล้วเป็นเครื่องมือที่องค์กรต่าง ๆ นำมาใช้ในการบริหารและการพัฒนาศักยภาพขององค์กรเพื่อความก้าวหน้าของธุรกิจ นอกเหนือจากการนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการลงทุนของนักลงทุนด้วย

ภาพจาก Freepik.com

 

                Benchmark คือเกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะหรือความสามารถที่ให้ความสำคัญในเรื่องการวัดเปรียบเทียบความสามารถของกลุ่มหนึ่งในด้านหนึ่ง ๆ เช่น การบริการ ผลิตภัณฑ์ โดยเลือกต้นแบบที่ดีที่สุดขึ้นมาเป็นมาตราฐานหรือกำหนดจุดมาตราฐานขึ้นเพื่อเปรียบเทียบความสามารถกับผู้อื่นในกลุ่ม ซึ่ง Benchmark นี้เองที่ช่วยให้ผู้จัดการกองทุนหรือนักลงทุนมองเห็นแนวโน้มและตัดสินใจในการลงทุนในหุ้นที่สนใจได้แม่นยำขึ้น

                โดยสามารถแบ่งตามจุดประสงค์ของการทำ Benchmarking ได้ 4 ประเภทย่อยได้ดังนี้

  1. Performance Benchmarking (Result Benchmarking) เป็นการเปรียบเทียบผลของการปฏิบัติงานของกลุ่มหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน
  2. Process Benchmarking เป็นการเปรียบเทียบกระบวนการทำงานของกลุ่มหนึ่ง ซึ่งช่วยให้เห็นจุดเด่นจุดด้อยของแต่ละองค์กรได้ชัดเจนขึ้น
  3. Product Benchmarking (Customer Satisfaction Benchmarking) เปรียบเทียบความพึงพอใจของลูกค้าต่อสินค้าของผู้ผลิตกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนิยมทำในสินค้ากลุ่มที่เป็นแฟชั่นและกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
  4. Strategy Benchmarking เป็นการเปรียบเทียบกลยุทธ์ระหว่างองค์กรในกลุ่มหนึ่งหรือเปรียบเทียบกับองค์กรที่ประสบความสำเร็จหรือถูกนำมาเป็นมาตราฐาน

ภาพจาก Freepik.com

 

และสามารถแบ่งการทำ Benchmark ตามผู้ที่เราเปรียบเทียบได้ดังนี้

  • Internal Benchmarking เป็นการเปรียบเทียบภายในองค์กรเป็นฝ่ายหรือบุคคล
  • External Benchmarking เป็นการเปรียบเทียบภายนอกองค์กรซึ่งเป็นธุรกิจเดียวกันหรือสามารถใช้เกณฑ์ชี้วัดร่วมกันได้
  • Competitive Benchmarking เป็นการเปรียบเทียบในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
  • Generic Benchmarking เป็นการเปรียบเทียบกับธุรกิจที่ต่างประเภทกัน

วัตถุประสงค์ของการทำ Benchmark

  • ช่วยให้เห็นความแตกต่างภายในกลุ่มนั้น ๆ ได้อย่างชัดเจนว่าผู้ใดโดดเด่นหรือด้อยกว่าในด้านใดบ้าง
  • เมื่อรู้ข้อด้อยแล้วช่วยให้สามารถมองหาแนวโน้มและกลยุทธ์ที่จะช่วยปรับปรุงส่วนที่ด้อยได้
  • ช่วยให้เห็นมาตราฐานและจุดสูงสุดที่ควรจะเป็นและมองเห็นภาพระยะห่างจากผู้หนึ่งไปยังเกณฑ์มาตราฐานนั้นได้
  • ช่วยให้เห็นความคืบหน้าของการพัฒนาและสิ่งใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาในกลุ่มได้ชัดเจนขึ้น

ภาพจาก Freepik.com

 

ประโยชน์ของการทำ Benchmark

  • ช่วยให้เห็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาและตัดสินใจ
  • ช่วยให้เข้าใจมาตราฐานและแนวโน้มรวมถึงจุดสูงสุดที่เป็นไปได้ของกลุ่มเปรียบเทียบ
  • ช่วยให้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานได้อย่างทันท่วงที
  • ช่วยให้การทำงานในระบบจัดการง่ายขึ้น
  • ช่วยให้มองเห็นทางเลือกใหม่ ๆ ที่มีความเป็นไปได้

โดยกองทุนรวมส่วนใหญ่มักอ้างอิง Benchmark ในการตัดสินใจจัดสรรการลงทุนในกองทุนที่สอดคล้องกับนโยบายของกองทุนนั้น ๆ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูงที่สุด และนักลงทุนที่ลงทุนด้วยตนเองก็ใช้ Benchmark ในการวางแผนการลงทุนประกอบกับปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนในการลงทุนสูงที่สุดเช่นกัน