ข้อควรรู้ก่อนให้เช่าคอนโดมิเนียม

7 ก.พ. 2560 03.59 น. | 9,785

ปัจจุบันตอนนี้มีการปล่อยให้เช่าคอนโดมิเนียมกันมากขึ้น ด้วยความนิยมการอยู่แบบครอบครัวเล็ก หรือ ย้ายไปอยู่ใกล้ที่ทำงาน การซื้อคอนโดเพื่อนำมาเก็งกำไรด้วยการปล่อยเช่าจึงมีมากขึ้น แต่คุณที่กำลังลงทุนด้วยวิธีนี้ควรรู้ข้อมูลดังต่อไปนี้ก่อนที่จะให้ใครเช่าไม่งั้นอาจจะเสียใจภายหลังได้

 

ต้องเซ็นสัญญาเช่า

ถึงแม้ว่าผู้เช่าจะเป็นเพื่อน คนรู้จัก ญาติพี่น้องก็ตาม เพราะหากจะทำการเช่าให้เป็นกิจลักษณะและไม่อยากให้เกิดปัญหาภายหลังการทำสัญญาเช่าคือสิ่งที่ต้องทำ เพราะทางกฏหมายหากไม่มีสัญญาเช่าเป็นลายลักษณ์อักษรและเกิดผิดสัญญาในภายหลังก็ไม่สามารถไปฟ้องร้องทางศาลได้ ดังนั้นควรทำสัญญาเช่า พร้อมกับขอสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน หรือสำเนาพาสปอร์ต(กรณีผู้เช่าเป็นชาวต่างชาติ)ไว้เป็นหลักฐาน

 

Tip :

  • หากเช่าเกิน 3ปี ต้องทำการจดทะเบียนกับกรมที่ดินด้วย ไม่อย่างงั้นจะสามารถฟ้องร้องได้ไม่เกินปีที่ 3 เท่านั้น (ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีในปีที่ 4 ได้)
  • ตกลงในสัญญาเช่าว่าใครจะจ่ายอะไรระหว่างเช่า เช่นค่าสาธารณูปโภค ผู้เช่าต้องเป็นฝ่ายชำระกับนิติบุคคล และนำใบเสร็จถ่ายรูปหรือสำเนาส่งผู้ให้เช่า

 

หาคนเช่าจากแหล่งเชื่อถือได้

การหาคนเช่าบางทีอาจจะมาจากคนรู้จัก หรือ ฝากพวกเว็บไซต์ฝากขาย เช่าคอนโดฯ โดยเราเป็นคนประกาศเอง หรือ ผ่านนายหน้าแบบเสียเงิน หรืออาจจะให้นิติบุคคลช่วยหาให้ เป็นต้น

  • กรณีที่เราหาเองข้อดีคือคุณไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่านายหน้า แต่อาจจะต้องใช้เวลานานซักหน่อย และจำเป็นต้องมีเวลาในการพาดูห้องเอง อีกทั้งต้องเจรจาติดต่อพูดคุยเอง หากเป็นคนที่ไม่ค่อยมีเวลาอาจจะใช้นายหน้าแทน
  • กรณีที่ใช้นายหน้าเป็นผู้หา และ ประสานงาน เราจะต้องเสียค่านายหน้า โดยส่วนใหญ่เสียเงินเท่ากับค่าเช่าจำนวน 1 เดือน สะดวกกับคนที่ไม่มีเวลา และ ต้องการมืออาชีพในการติดต่อประสานงานพูดคุยให้
  • กรณีใช้นิติบุคคลเป็นผู้หา ต้องตกลงขอบเขตการทำงานของนิติบุคคลว่าให้ทำแค่ไหน เช่น แค่หาเฉพาะผู้เช่า และเราเป็นคนติดต่อประสานงานต่อเอง หรือ ในบางครั้งนิติบุคคลอาจจะยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมให้ เช่น ซ่อมแซมให้ (กรณที่เจ้าของไม่อยู่ประเทศไทย และให้นิติบุคคลเป็นคนดำเนินการ)

 

ทำลิสต์รายการของในห้อง และ ถ่ายรูปไว้

การทำลิสต์รายการและถ่ายรูปไว้เผื่อป้องกันของหายตอนที่คืนห้อง เพราะเราไม่ได้ให้ผู้เช่า เช่าเฉพาะห้องที่อยู่อาศัย แต่มันรวมถึง โทรทัศน์ ตู้เย็น โซฟา และที่สำคัญคือ กุญแจห้อง กุญแจสำรอง เราต้องเก็บกลับคืนทุกครั้งที่ผู้เช่าอาศัยครบตามสัญญา

 

Tip : การถ่ายรูปห้องทำให้ทั้งผู้เช่า และ ผู้ให้เช่า รู้ว่ามีรอยร้าว หรือ สิ่งที่ไม่สมบูรณ์ของห้องก่อนที่จะทำการเช่าอยู่ก่อนแล้ว หากมีรอยร้าวหรือมีความเสียหายที่เกิดหลังจากนี้ ผู้เช่าต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ที่สำคัญต้องทำสัญญาตกลงกันถึงเรื่องความเสียหายของห้องเอาไว้ด้วย

 

เงินประกันการเช่า สิ่งสำคัญสำหรับผู้ให้เช่า

เงินประกันการเช่า หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า มัดจำ คือเงินที่ผู้เช่าต้องจ่ายให้ผู้ให้เช่าก่อนที่จะเข้าอาศัยโดยส่วนใหญ่คิด 3 เดือน เพื่อเป็นการรับประกันว่าผู้เช่าจะเข้ามาอยู่จริง และหากหมดสัญญาในการอยู่อาศัยแล้วผู้ให้เช่าต้องคืนเต็มจำนวนแก่ผู้เช่า ยกเว้นที่ทางผู้เช่าทำผิดตามสัญญาเช่าที่ทำกันไว้ ทางผู้ให้เช่าอาจจะริบเงินทั้งหมด หรือ บางส่วนไว้

 

Tips: เรื่องหลักๆที่ทางผู้ให้เช่าสามารถริบเงินประกันการเช่าได้คือ คนเช่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่า คนเช่าค้างค่าเช่าหรือไม่ยอมจ่ายเบี้ยปรับ คนเช่าไม่อยู่ให้ครบตามสัญญาเช่า คนเช่าค้างค่าสาธารณูปโภค หรือ คนเช่าทำห้องของเราเสียหาย

 

ระบุเบี้ยปรับในสัญญา ป้องกันการเบี้ยวไม่จ่ายค่าเช่า

การระบุเรื่องเบี้ยปรับในสัญญาการเช่า เพื่อป้องกันการเบี้ยวไม่จ่ายค่าเช่า โดยคุณควรระบุป้องกันไว้ก่อน และดูเป็นกรณีๆไป (อาจจะอะลุ่มอะล่วยได้ในภายหลัง) ปกติจะคิดเป็นเบี้ยปรับแบบรายวัน เช่น วันละ 500 บาท หรือ รายปีคือ คิดร้อยละ 15 ต่อปี แต่ถ้าหากนานเกินไปก็อาจจะเขียนระบุในสัญญาได้ว่าหากเบี้ยวนัดไม่จ่ายเกิน 3 เดือน สามารถที่จะบอกยกเลิกสัญญาได้

 

Tip : หากผู้เช่าไม่ยอมจ่ายค่างวด และ ผิดสัญญาไม่ยอมออกจากห้อง ทางผู้ให้เช่าอย่าผลีผลามเข้าไปเปลี่ยนกุญแจหรือล็อคประตูห้องเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นการบุกรุก อาจจะโดนคดีความได้ แต่สามารถระบุในสัญญาป้องกันไว้ก่อนเลยได้ว่า หากทางผู้เช่าผิดสัญญา ผู้ให้เช่าสามารถกระทำการเปลี่ยนกุญแจ หรือ ตัดน้ำ/ไฟ ได้

 

ค่าเช่าต้องเสียภาษีอะไรบ้าง

ภาษีที่ต้องจ่ายมี 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้เช่า และ คนให้เช่าว่าเป็นบุคคลประเภทใด และมีข้อตกลงกันอย่างไร

  • ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีผู้ให้เช่าเป็นบุคคลธรรมดา มีผู้เช่าเป็นบริษัทหรือนิติบุคคล โดยปกติบริษัท และ นิติบุคคลเหล่านี้ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นจำนวนร้อยละ 5 ของจำนวนค่าเช่าแต่ละครั้งที่ต้องจ่ายให้เราในฐานะผู้ให้เช่า และ ผู้เช่าจะส่งหนังสือรับรองการหักภาษี ณที่จ่าย ให้แก่ผู้เช่าเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
  • อากรแสตมป์ติดบนตัวสัญญาเช่า จำนวนเท่ากับอัตราค่าเช่า 1,000 บาท ต่ออากรแสตมป์ 1บาท
  • ภาษีโรงเรือนและที่ดิน เสียในอัตรา 12.5% ของค่าเช่าทั้งปี

 

 

จากข้อควรรู้ที่เรานำเสนอให้คุณที่เป็นผู้ให้เช่า คุณต้องเตรียมตัวทั้งเรื่องเอกสาร สัญญาต่างๆ รวมไปถึงการเจรจากับผู้เช่า อย่าลืมว่ายิ่งเรารู้มากยิ่งได้เปรียบและเข้าใจมาก เพียงเท่านี้คุณก็ลงทุนให้เช่าคอนโดฯได้อย่างสบายใจแล้ว