จัดสรรเงินอย่างไรไม่ให้ช็อตในแต่ละเดือน

12 มิ.ย. 2560 15.54 น. | 2,424

คำพูดที่ว่า “สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ” เป็นคำพูดที่เรามักจะได้ยินบ่อยๆ โดยเฉพาะช่วงใกล้ถึงสิ้นเดือน   จากคนรอบข้างบ้าง จากตัวเราเองบ้าง เรียกได้ว่าแทบทุกเดือนต้องมีใครสักคนเอ่ยคำพูดประมาณนี้ออกมา เพราะช่วงใกล้จะถึงสิ้นเดือนรายได้ที่หามาก็เริ่มร่อยหรอ และรอเวลาเสียงระฆังของเงินเดือนรอบใหม่ดังมาอีกครา ถ้าเป็นแบบนี้ทุกๆ เดือนก็คงเหนื่อยแย่เลย ฉะนั้นวันนี้เรามาเรียนรู้แนวคิดหรือวิธีการจัดสรรเงินเดือนของเราให้พอใช้ทั้งเดือนนี้ เดือนหน้า และเดือนต่อๆ ไป แถมมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นมาด้วย อย่ารอช้า...ไปกันเลยค่ะ

 

1. แบ่งเก็บเป็นอันดับแรก

ใช่แล้วค่ะเมื่อได้เงินมาอย่างแรกควรแบ่งเก็บก่อนเป็นอันดับแรก เพราะอย่างน้อยๆ เราก็มีเงินส่วนนี้เป็นเงินสำรอง บางคนอาจจะแบ่งเก็บ 10% ของเงินเดือนก็ได้ หรือถ้าหากใครมีสัดส่วนการออมที่ดีและเหมาะสมกับตัวเองก็ไม่ว่ากันค่ะ แต่อย่างน้อยควรแบ่งเก็บสัก 10% เป็นอย่างต่ำ และควรมีอีกหนึ่งบัญชีสำหรับเก็บเงินส่วนนี้โดยเฉพาะ อาจเลือกบัญชีฝากประจำระยะยาวไปเลยยิ่งดี จะได้อุ่นใจว่าเรามีเงินเก็บทุกเดือน แถมได้ดอกเบี้ยสูงด้วยแหละ ซึ่งการฝากแบบประจำเราต้องมีวินัยมากๆ สามารถติดต่อกับทางธนาคารให้หักเงินจากบัญชีเงินเดือน แล้วโอนเข้าบัญชีฝากประจำของเราอัตโนมัติไปเลยก็จะได้ไม่ยุ่งยาก ลองศึกษาข้อมูลส่วนนี้เพิ่มเติมค่ะ

 

2. แบ่งใช้ให้พอดี

 

เมื่อแบ่งเก็บแล้ว เราก็ควรมาแบ่งใช้จ่าย อย่าลืมสมการ

 

เงินได้ – เงินออม (เงินเก็บ) = เงินใช้

เราก็มาดูว่าหลังหักเงินออมแล้วเราจะเหลือเงินใช้เท่าไหร่ ควรแบ่งเงินใช้ออกเป็น เงินสำหรับชำระหนี้ และเงินใช้สำหรับค่าครองชีพค่ะ 

เงินใช้สำหรับชำระหนี้ เป็นส่วนสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นๆ สำหรับคนที่มีรายการหนี้สินรออยู่ในทุกๆ สิ้นเดือนควรชำระตามกำหนดไม่งั้นอาจโดนคิดดอกเบี้ยได้

ส่วนเงินใช้สำหรับค่าครองชีพ ก็คือรายจ่ายจำเป็นสำหรับค่าอาหาร ค่าเดินทาง หรือค่าอื่นๆ ที่มีความจำเป็น ซึ่งถ้าหากเราตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก็สามารถแปรเปลี่ยนรายจ่ายส่วนนี้เป็นเงินออมได้ด้วย สำหรับผู้ที่มีครอบครัวแล้ว ควรแบ่งสัดส่วนของเงินให้เหมาะสม เพื่อบริหารจัดการให้ลงตัว เพราะผู้ที่มีครอบครัวอาจจะมีภาระหลายทาง การวางแผนการเงินโดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจึงสำคัญมาก

การแบ่งใช้ให้พอดีเราก็ควรกำหนดไปเลยว่าในแต่ละวันเราจะใช้เงินกี่บาท และไม่ควรพกเงินสดติดตัวจำนวนเยอะๆ เพราะเราอาจใช้จนเพลิน และต้องมีวินัยเตือนตัวเองเสมอว่าเราต้องใช้เงินตามแผนที่วางไว้

 

3. หยอดกระปุกทุกวัน

การหยอดกระปุกออมสินใครว่าเหมาะแค่กับเด็กๆ เท่านั้น ผู้ใหญ่ก็ทำได้ และควรทำค่ะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่อยากฝึกให้ลูกๆ ของตัวเองรักการออม เรานี่แหละค่ะที่ควรทำเป็นตัวอย่างให้กับเขาก่อน เพราะลูกๆ จะยึดพ่อแม่เป็นตัวอย่างในหลายๆ เรื่อง และถ้าเราเก็บออมเงินเป็นตัวอย่างเสมอๆ ในวันหนึ่งที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะนำนิสัยรักการออมติดตัวมาด้วย และเป็นผู้ใหญ่ที่รักการออมเป็นตัวอย่างให้เด็กๆ ต่อไปค่ะ

 

4. จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราสามารถจัดระเบียบการเงิน บริหารค่าใช้จ่ายของเราได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น บางคนเมื่อยามใช้ก็ใช้ เมื่อยามจ่ายก็จ่ายง่ายๆ ไม่ได้คิดอะไรมาก แต่ก็จะต้องมากุมขมับเมื่อถึงเวลาช็อต การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจึงเป็นวิธีการดีๆ ที่เราจะนำมาใช้ได้ ลองดูนะคะ ลองทำแบบจริงจัง แล้วจะเห็นผลที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนค่ะ

เชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากตกอยู่ในสภาวะการเงินติดขัด หรือเงินช็อตกันใช่ไหมคะ เพราะมันช่างเป็นสภาวะที่รู้สึกเจ็บปวดแบบบอกไม่ถูก ทรมานแบบพูดอะไรมากไม่ได้  ต่อไปนี้หากเรารู้จักจัดสรรการเงินของเราย่างเป็นระบบ เรื่องที่ว่าต้องกินมาม่าปลากระป๋องช่วงสิ้นเดือนก็ลืมไปได้เลยค่ะ (เว้นแต่ว่าเราอยากกินจริงๆ)