ออมเงินแบบไหนที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคุณ

16 ก.พ. 2560 01.08 น. | 7,581

การออมเงินเป็นสิ่งที่ควรเริ่มทำตั้งแต่คุณเริ่มมีเงินเก็บ หรือ เงินเดือน เพราะที่เค้าบอกกันว่า “ใครออมก่อน รวยก่อน” คงจะเป็นเรื่องจริง และช่วยให้คุณหลุดพ้นจากการเป็นหนี้ แต่การออมเงินแบบไหนล่ะที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคุณ วิธีการออมเงินแต่แบบก็มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไรบ้าง วันนี้เรามีมาให้คุณได้ศึกษากัน

 

1. การหยอดกระปุกเก็บออม

ภาพจาก www.money-rates.com

 

วิธีเบสิค สากล สำหรับการเริ่มเก็บออมเงินของคุณ เพียงมีกระปุกออมสิน คุณก็เริ่มเก็บออมได้แล้ว

ข้อดี

  • ง่าย สามารถทำได้เลยทันที สามารถเริ่มได้จากเงินตั้งต้นหลักหน่วยหรือหลักสิบ แค่มีความมุ่งมั่นหรือตั้งใจ
  • สามารถแบ่งกระปุกออกตามเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น กระปุกนี้สำหรับไปเที่ยว กระปุกนี้สำหรับอุปกรณ์ไอที และกระปุกนี้สำหรับอาหารหรู ๆ สักมื้อ เป็นต้น

ข้อเสีย

  • หากคุณใจไม่แข็งพอ อาจจะเกิดเหตุการณ์หยิบเอาเงินออมมาใช้ก่อนที่จะถึงเป้าหมาย
  • เป็นเงินออมที่ปราศจากดอกเบี้ย คุณได้จะได้เงินจากการออมของคุณเท่านั้น

 

2. การออมแบบเงินฝากกับสถาบันการเงิน

ปัจจุบันการฝากเงินกับสถาบันการเงินมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งบัญชีเงินฝากประจำ บัญชีแบบพิเศษที่มีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลาที่ออม บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษหรือดอกเบี้ยปลอดภาษี ซึ่งบัญชีเงินฝากแต่ละประเภทมีเงื่อนไขในการรับฝากเงินต่าง ๆ กัน ทั้งยอดเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชี หรือระยะเวลาในการฝาก รวมถึงเงื่อนไขในการฝากเงินเพิ่มหลังเปิดบัญชี

ข้อดี

  • ง่าย เพียงคุณนำบัตรประชาชนและเงินออมขั้นต่ำที่คุณจะฝากทุกเดือนไปที่ธนาคาร คุณก็สามารถเปิดบัญชีเงินฝากกับทางสถาบันการเงินได้แล้ว
  • สามารถมั่นใจได้กับดอกเบี้ยที่แน่นอน และ คุณสามารถกำหนดเงินขั้นต่ำในแต่ละเดือนได้ และช่วยให้คุณมีวินัยบังคับให้คุณต้องฝากเงินประจำจนกว่าจะครบกำหนด

ข้อเสีย

  • ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบัน เพราะอัตราดอกเบี้ยคงที่และไม่สูงมากนัก และความที่มีการกำหนดจำนวนเงินขั้นต่ำในการเปิดบัญชี บางครั้งจึงเป็นเงินก้อนใหญ่ที่มนุษย์เงินเดือนอาจจะลำบากในการออม

 

3. การซื้อสลากหรือพันธบัตร

ภาพจาก www.economind.org

 

การออมด้วยการซื้อสลาก หรือ พันธบัตร เป็นการออมกับหน่วยงาน นอกจากจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากแล้ว ยังมีโชคให้ลุ้นอีกด้วย

ข้อดี

  • เป็นวิธีการออมที่ค่อนข้างปลอดภัย เงินต้นไม่หาย ดอกเบี้ยคงที่แน่นอนไม่แปรปรวน 
  • เหมาะกับผู้ที่ชอบเสี่ยงโชคเพราะลงทุนไปแล้วเงินต้นก็ไม่หายไปไหน

ข้อเสีย

  • มีเงื่อนระยะเวลามาบังคับซึ่งโดยมาเงินที่ออมในรูปแบบนี้จะมีระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี ดังนั้นเงินที่นำมาออมต้องแน่ใจว่าเป็นเงินเย็นที่ผู้ออมไม่มีความจำเป็นต้องใช้จนกว่าจะครบกำหนดการออมนั้นเอง

 

4. การซื้อประกัน(ประกันแบบออมทรัพย์)

ภาพจาก restorationquote.com

 

ปัจจุบันมีรูปแบบการประกันหลากหลายมากขึ้น และที่น่าสนใจคือ ประกันแบบออมทรัพย์ เพราะให้ดอกเบี้ยการประกันค่อนข้างสูง และยังครอบคลุมการคุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิตให้อีกด้วย

ข้อดี

  • เบี้ยประกันหรือผลตอบแทนค่อนข้างสูง ให้การคุ้มครองอื่น ๆ เช่น เงินตอบแทนกรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต
  • มักได้ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยประกันเป็นช่วง ๆ ตามระยะเวลาที่ทางประกันกำหนด

ข้อเสีย

  • ระยะการจ่ายเบี้ยค่อนข้างนาน ขั้นต่ำอย่างน้อยต้องต่อเนื่อง 5 ปี และต้องรอจนถึงระยะเวลาที่ทางประกันกำหนด จึงจะสามารถจึงจะได้เงินก้อนที่ทำประกันไปคืน

 

5. ออมแบบการซื้อกองทุน

ภาพจาก rwsgroup.org

 

การออมแบบการซื้อกองทุนมีอยู่หลายประเภท ขึ้นอยู่กับนโยบายของการลงทุน แต่ส่วนใหญ่จะซื้อเป็น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว ( LTF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งซื้อขายผ่านธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาต และมีระยะเวลารวมถึงอัตราในการซื้อขายตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด

ข้อดี

  • ผู้ออมจะได้รับกำไรเป็นภาษีที่ได้รับการลดหย่อนทันที ตามหน่วยเงินที่ได้ลงทุนไป และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาของการลงทุนในกองทุนก็สามารถขายหน่วยกองทุนที่เราซื้อไว้คืนเป็นเงินกลับมาได้

ข้อเสีย

  • มีอัตราความเสี่ยงเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะบางกองทุนก็อาจจะขาดทุนได้ ต้องศึกษาให้ดีก่อนเริ่มลงทุน
  • มีระยะเวลากำหนดในการซื้อกองทุนเป็นระยะเวลานานไม่น้อยกว่า 5 ปี ต้องใช้เงินเย็นจริงๆที่จะนำไปลงทุน

 

6. ออมเงินด้วยการซื้อหุ้น

ภาพจาก innotribe.com

 

ข้อดี

  • ให้ผลตอบแทนค่อนข้างเร็วและสูง สามารถเลือกได้ระหว่างการซื้อขายเพื่อเก็งกำไร หรือการซื้อขายเพื่อรอผลตอบแทนอื่น ๆ เช่น เงินปันผล และกำไรจากการซื้อขาย เป็นต้น

ข้อเสีย

  • ความเสี่ยงสูงมาก หากเทียบกับการออมเงินวิธีอื่น ๆ สามารถมีจุดพลิกผันได้ตลอด ไม่มีอัตรากำไรหรือขาดทุนที่แน่นอน

 

จาก 6 วิธีการออมที่เรานำเสนอไปคุณก็สามารถนำไปศึกษาและลองปรับใช้ดูว่าแบบไหนจะเข้ากับพฤติกรรม และ ความพร้อมของคุณมากที่สุด เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ได้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวคุณ